สาขาวิชาสถิติ

ภาษาไทย ภาคปกติ
ระยะเวลา: 4 ปี
จำนวนรับเข้า: 65 คน

คุณสมบัติผู้สมัครเข้าศึกษา:

  • ผู้สมัครต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายสามัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม รวมกันไม่น้อยกว่า 22 หน่วยกิต กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม รวมกันไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต

จำนวนหน่วยกิต:

  • จำนวนหน่วยกิต รวมไม่น้อยกว่า         124 หน่วยกิต
    • วิชาศึกษาทั่วไป                                   30 หน่วยกิต 
    • วิชาเฉพาะ ไม่น้อยกว่า                       88 หน่วยกิต
    • วิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า                     6 หน่วยกิต

ค่าเล่าเรียน:

  • ภาคการศึกษาละ 17,300 บาท (เหมาจ่าย)

สถานที่ศึกษา:

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

Contact

  064-256-9907
   supatta@mathstat.sci.tu.ac.th
  https://math.sci.tu.ac.th
  Mathstat TU
 @mathstat_tu
 mathstat_tu
 Mathstat TU

“พื้นฐานแน่น แม่นทฤษฎี มีวิชาโทเด่น เน้นโปรแกรมประยุกต์”

คำอธิบายหลักสูตร

สถิติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญและจำเป็นในการศึกษาวิจัยทุก ๆ ด้าน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูล ดังนั้นหลักการและขั้นตอน ในการดำเนินงานด้านสถิติจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับงานด้านนั้น ๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันโลกเป็นยุคดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่อมต้องการการตัดสินใจที่ทันต่อเหตุการณ์ภายใต้หลักฐานและข้อมูลสนับสนุนร่วมกับการใช้หลักการและทฤษฎีที่ถูกต้องครอบคลุมในทุกมิติ บุคลากรทางสถิติจึงมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารองค์กร และพัฒนาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลักสูตรสาขาวิชาสถิติมุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและการประยุกต์เพื่อให้มีการใช้งานได้จริงภายใต้หลักการที่ถูกต้อง โดยรายวิชาในหลักสูตรจะเน้นตั้งแต่พื้นฐานทางสถิติ ทฤษฎีความน่าจะเป็นเบื้องต้น คณิตสถิติศาสตร์ การวิเคราะห์การถดถอยประยุกต์ การสำรวจตัวอย่างเบื้องต้น การวิเคราะห์ข้อมูลและการคำนวณด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ การออกแบบการทดลองเบื้องต้น ระเบียบวิธีการวิจัย โครงงานพิเศษ นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกที่หลากหลายและวิชาโทที่โดดเด่น เช่น การวิเคราะห์การตัดสินใจทางสถิติ อนุกรมเวลาและการพยากรณ์ การวิจัยดำเนินงาน การควบคุมคุณภาพเชิงสถิติ ชีวสถิติ กระบวนการสโทแคสติก ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประกันภัย ตลาดการเงินและการลงทุนในหลักทรัพย์ คณิตศาสตร์ประกันชีวิต คณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย ทฤษฎีการเสี่ยงภัยเบื้องต้น และคณิตศาสตร์การเงินและการลงทุน

การเรียนการสอนจะเน้นการใช้งานจริงกับข้อมูลรวมถึงการจำลองข้อมูลภายใต้โปรแกรมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย การศึกษาดูงาน การฝึกงาน การทำโครงงานพิเศษ เพื่อการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ในการทำวิจัย การตัดสินใจ การใช้เหตุผล เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ  บัณฑิตที่จบไปจะมีความรู้ที่ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน สามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ รวมถึงการศึกษาต่อในหลายแขนงวิชา ผสมผสานกับคุณสมบัติที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ

การฝึกงานหรือสหกิจ

นักศึกษาสามารถฝึกงานในองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นเครือข่ายของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ (ฝึกงานในภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3)

การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

สามารถศึกษาต่อในหลักสูตรหลากหลายสาขา เช่น  สถิติ ประกันภัย เศรษฐศาสตร บริหารธุรกิจ วิศวะกรรมการเงิน  วิศวะกรรมอุตสาหการ เทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสติก วิทยาการข้อมูล การวิจัยดำเนินงาน คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ

กลุ่มอาชีพเป้าหมายเม่อจบการศึกษา

แนวทางประกอบอาชีพ

  1. นักสถิติ
  2. นักวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
  3. นักคณิตศาสตร์ประกันภัย
  4. นักวิเคราะห์วางแผน