ประวัติความเป็นมาของสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปรับปรุงพัฒนาระบบการศึกษา ที่อาจกล่าวว่าเป็นครั้งใหญ่โดยเลขาธิการ มหาวิทยาลัยในขณะนั้นคือ
ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญท่านได้นำปรัชญาการศึกษาใหม่มาสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และต่อมาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของประเทศคือ Liberal Education ซึ่งมุ่งหวังให้นักศึกษามีความรู้และทัศนะกว้างขวาง มีความรู้ ไม่เฉพาะในสาขาวิชาเอกหรือวิชาชีพที่ศึกษา แต่ให้มีความรู้ความเข้าใจรากฐานอันสำคัญและความสัมพันธ์ของวิชาการด้านต่าง ๆ เพื่อนักศึกษาจักได้เป็น ผู้ซึ่งเข้าใจตนเอง สังคม ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม มีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณวิเคราะห์สังเคราะห์ ปัญหาอย่างมีเหตุผล การพัฒนาระบบการศึกษาครั้งนี้นำไปสู่การยกเลิกการไม่จำกัดจำนวนรับนักศึกษาในแต่ละปีเป็นการจำกัดจำนวนรับและมีหลักสูตรพื้นฐานทั่วไปของมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะต้องศึกษาวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และหมวดภาษาตามปรัชญา การศึกษา Liberal Education ก่อนที่นักศึกษาจะศึกษาลึกซึ้งต่อไปในสาขา วิชาเอกหรือวิชาชีพพร้อม ๆ กันนี้ การตั้งคณะใหม่ เพื่ออำนวยการเรียนการสอนหลักสูตรพื้นฐานทั่วไป และสอนสาขาวิชาเอก หรือวิชาชีพระดับปริญญาได้กำเนิดขึ้นในปี 2505 คือ คณะศิลปศาสตร์สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่เปิดการเรียนการสอน เป็นวิชาเอกในยุคแรกของคณะศิลปศาสตร์ ท่านอาจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ผู้ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์นั้น ท่านมีความคิดลึกซึ้งกว้างขวางเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์และสถิติ ที่เป็นรากฐานหนึ่งของความเจริญก้าวหน้าของวิชาการแขนงต่าง ๆ คณิตศาสตร์เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการมาพร้อม ๆ กับอารยธรรม ของมนุษยชาติ สถิติเป็นคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นในภายหลังเป็นศาสตร์หนึ่งสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติในคณะศิลปศาสตร์ จึงมีความรับผิดชอบการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรพื้นฐานทั่วไป คณิตศาสตร์ระดับปริญญาตรี และสถิติระดับปริญญาตรี ตลอดจนบริการสอนวิชาปีสูงให้แก่นักศึกษาคณะต่าง ๆ

อาจารย์ท่านแรกของสาขาวิชา คือ ท่านอาจารย์ประณีต เจาทะเกษตริน เป็นผู้จัดหลักสูตรการศึกษาทั้งสองสาขาวิชา นักศึกษารุ่นแรกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2505 ในปีการศึกษา 2506 ได้รับอาจารย์เพิ่มอีกคือ อาจารย์วสันต์ ธัญมันตา อาจารย์นวลจันทร์ อินทรวิชะ ต่อมา อาจารย์ ม.ร.ว.ปานใจ สุขสวัสดิ์ อาจารย์มงคล สีห์โสภณ อาจารย์เรไร ตั้งสาโรช อาจารย์เรณู ตั้งสาโรช และอาจารย์นิตย์ ดำรงพงษ์ ในปี 2507 และบรรจุหรือรับโอนคณาจารย์หลายท่าน ในปีต่อ ๆ มา อุปกรณ์การเรียนการสอนในสมัยแรก ๆ นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่า เครื่องคิดเลขแบบมือหมุนยี่ห้อ FACIT ซึ่งมีขาย แพร่หลายในท้องตลาด ต่อมาสาขาวิชาได้งบประมาณซื้อเครื่องคิดเลขไฟฟ้า 2 เครื่องแรก จึงเป็นที่ตื่นเต้นของนักศึกษารุ่นแรกๆ มาก และได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในสมัยนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ ยังเป็นสิ่งใหม่มากของเมืองไทย ทั่วประเทศมีอยู่ไม่กี่เครื่อง นักศึกษารุ่นต้น ๆ เรียนคอมพิวเตอร์กันเพียงวิชาเดียวคือ ภาษา FORTRAN IV และใช้เครื่อง IBM 1620 แต่บัณฑิตและศิษย์เก่าของสาขาวิชาก็สามารถศึกษาค้นคว้าทำงานด้านคอมพิวเตอร์ ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงจำนวนมากมาย ถัดมาอีกระยะหนึ่งก็เปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ใช้รหัสวิชาสถิติเพิ่มขึ้นเป็น 3 วิชา และ 5 วิชาในคณะศิลปศาสตร์ อีกทั้งสาขาวิชาสนับสนุนให้อาจารย์คณิตศาสตร์ สถิติ ที่สนใจคอมพิวเตอร์ลาศึกษาต่อด้านศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรง รวมทั้งขอทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาอาจารย์ด้วย จนมีอาจารย์ด้านนี้ในสาขาวิชาจำนวนหลายท่าน จึงเป็นต้นกำเนิดของสาขาวิชาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ใน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อนึ่ง ณ ท่าพระจันทร์ สถานที่คับแคบ ไม่อำนวยให้เปิดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ได้ อย่างกว้างขวาง

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์อดุล วิเชียรเจริญ ผู้มีสายตาทางวิชาการกว้างไกลได้กำหนดให้เปิดสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติขึ้น นอกจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ท่านเคยบอกกับศิษย์ ว่า สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติเป็นหลักฐานในหลักการว่า ธรรมศาสตร์สนใจจะเปิดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยด้วย และท่านเป็นผู้บริหารคนแรกที่ดำริให้ขยายพื้นที่การเรียนการสอนแห่งใหม่เพิ่มขึ้นจากท่าพระจันทร์ ด้วยชาวคณิตศาสตร์และสถิติศึกษาในคณะศิลปศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ฉันท์พี่น้องติดต่อกันมาได้ 24 รุ่นมหาวิทยาลัยได้ตั้ง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคณะใหม่สุด ในปี 2529 พร้อมโอนอาจารย์สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ จากคณะศิลปศาสตร์มาสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ศูนย์รังสิตสถานที่ขยายการศึกษาแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สาขาวิชา คณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นสาขาวิชาที่เก่าแก่ที่สุดของคณะด้วย มีประวัติสืบเนื่องจากท่าพระ จันทร์มายังรังสิต และได้เปิดหลักสูตรปริญญาโททางสถิติประยุกต์ขึ้นในปี 2529 ในปีการศึกษา 2535 สาขาวิชาคณิตศาสตร์และ สถิติ ได้ขยายการศึกษาออกไปอีกแขนงหนึ่งคือ วิชาเอกด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ได้ยกฐานะเป็น ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงพัฒนากิจการด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น อุปกรณ์การศึกษาโดยเฉพาะเครื่อง คอมพิวเตอร์ได้รับงบประมาณเพื่อจัดซื้อมาใช้ในการเรียนการสอนและ การค้นคว้าวิจัยเพิ่มขึ้นตามลำดับ และได้เปิดหลักสูตรวิชาโทด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยในปี 2533 และในปี 2539 ภาควิชาฯ ได้เปิดการเรียนการสอน โครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาสถิติขึ้นเพื่อเพิ่มการผลิตบัณฑิตทางด้านสถิติที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์มากพอที่จะไปประกอบอาชีพตามความต้องการของสังคม และเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถและความพร้อมมี โอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นธรรมในเรื่องโอกาสทางการศึกษาให้แก่สังคม และในปี 2542 ได้เปิดสอนโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาคณิตศาสตร์ เพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาวิชา

จากการเปิดเสรีทางสินค้าและบริการ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรด้านวิทยาการประกันภัยที่มีคุณภาพมีมากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน และเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงขยายโอกาสในกับผู้ที่มีความสนใจสายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกันชีวิต การประกันวินาศภัย บริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงิน ในปี 2557 ภาควิชาฯ จึงได้เปิดสอนโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาวิทยาการประกันภัย และในปี 2558 ภาควิชา ฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์ทั้งในเชิงทฤษฎีและการประยุกต์ รวมถึงในปัจจุบันความต้องการในการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสการพัฒนาความรูู้ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ในระดับดุษฎีบัณฑิตให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ในปี 2559 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรจากเดิมประกอบด้วยภาควิชา ได้เปลี่ยนเป็นสาขาวิชา ดังนั้นภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติจึงเปลี่ยนเป็นสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ

2529 – ปัจจุบัน

รายนามหัวหน้าสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ ณ อดีตจนถึงปัจจุบัน (ไม่รวมช่วงที่อยู่ในคณะศิลปศาสตร์) มีรายนามดังต่อไปนี้

 

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์นวลจันทร์ อินทรวิชะ                 2529 – 2530

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดา แม้นมินทร์                2530 – 2531

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์นวลจันทร์ อินทรวิชะ                 2531 – 2532

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์นวลจันทร์ อินทรวิชะ                 2532 – 2535

  • รองศาสตราจารย์สุนันทา ธาตวากร                          2535 – 2537

  • รองศาสตราจารย์วีนัส พีชวณิชย์                              2537 – 2539

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิไลวรรณ ศรีอาริยะเมตตา      2539 – 2542

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลัดดาวัลย์ เพ็ญสุภา                 2542 – 2545

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์สายทอง อมรวิเชษฐ์                 2545 – 2548

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลัดดาวัลย์ เพ็ญสุภา                 2548 – 2553

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์สำราญ มั่นทัพ                          2553 – 2559

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรเมศวร์ ฮาชิม                       2559 – 2562

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดุลย์ แป้นสุวรรณ           2563 – 2566

  • รองศาสตราจารย์ ดร.สุพัชระ คงนวน                     2566 – ปัจจุบัน